ธุรกิจเจ้าของคนเดียว

ธุรกิจเจ้าของคนเดียว

ธุรกิจเจ้าของคนเดียวมีผู้ประกอบการเพียงคนเดียวที่เป็นเจ้าของกิจการ และบริหารงานทุกด้านของธุรกิจด้วยการตัดสินใจคนเดียว การประกอบธุรกิจจะทำโดยนำสินทรัพย์ส่วนตัวของตน หรือเงินที่ยืมมาจากเครือญาติ เพื่อนฝูง สถาบันการเงินมาลงทุน ดังนั้นธุรกิจเจ้าของคนเดียวมักจะเป็นธุรกิจส่วนตัวที่มีเงินทุนดำเนินการไม่มาก และมีขอบเขตของการดำเนินธุรกิจค่อนข้างจำกัด จึงเหมาะสมกับธุรกิจที่ต้องการเงินทุนน้อย บริหารงานอย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนหรือมีขั้นตอนมาก และเน้นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ เช่นพวกขายอาหารเล็กๆ หรือ ธุรกิจขายเสื้อผ้าเล็กๆ

ข้อดีของธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว

1. จัดตั้งได้ง่าย ผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานต่าง ๆ ไปจดทะเบียนพาณิชย์ และขอใบอนุญาตต่าง ๆที่จำเป็นได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีการรับรองจากสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด

2. มีอิสระในการดำเนินงานเต็มที่ การตัดสินใจต่าง ๆ จะทำโดยเจ้าของเพียงคนเดียวทำให้คล่องตัวและสะดวกในการดำเนินงาน

3. รักษาความลับได้ดี เพราะธุรกิจเจ้าของคนเดียวไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก เจ้าของจะทำการปฏิบัติงานหลัก ๆ เอง ทำให้เคล็ดลับแห่งความสำเร็จไม่ถูกแพร่กระจายและลอกเลียนแบบ

4. ได้ผลกำไรเป็นค่าตอบแทนในการประกอบการคนเดียว ไม่ต้องแบ่งให้ผู้อื่นเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

5. ข้อจำกัดทางกฎหมายมีน้อย ไม่จำเป็นต้องแสดงงบการเงินต่อกรมสรรพากรทุกสิ้นงวดบัญชีเพื่อเสียภาษี เพราะจะใช้วิธีการเหมาจ่ายโดยหักจ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามอัตราต่าง ๆ(ขอดูได้จากกรมสรรพากร) ซึ่งลดภาระในการทำบัญชีและการใช้ผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงิน
6. การคำนวณภาษีกฎหมายถือว่าเจ้าของและธุรกิจเป็นบุคคลเดียวกัน จึงเสียแต่เพียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 90 และ ภงด. 94) ไม่ต้องเสียภาษีซับซ้อนเหมือนรูปแบบธุรกิจอื่น

ข้อเสียของธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว

1. ต้องรับผิดในหนี้สินไม่จำกัดจำนวน เพราะถือว่าเจ้าของกับธุรกิจเป็นบุคคลเดียวกันถ้ากิจการขาดทุนไม่เพียงแต่เจ้าของจะสูญเสียเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบนำสินทรัพย์ส่วนตัวมาชดใช้หนี้อีก

2. เจ้าของขาดความสามารถที่จะบริหารงานให้ประสบความสำเร็จทุกด้าน คนโดยส่วนมากจะมีความชำนาญเฉพาะด้านแต่ไม่เก่งทุกด้าน เมื่อต้องบริหารงานโดยตนเองทุกเรื่องอาจตัดสินใจดำเนินการผิดพลาดในบางเรื่องซึ่งอาจทำให้ธุรกิจถึงกับประสบความล้มเหลวได้

3. ขยายกิจการยาก การกู้ยืมเงินจากผู้อื่นหรือจากสถาบันทางการเงินมาขยายกิจการค่อนข้างทำได้ยากเพราะธุรกิจของคนเดียวมีภาพลักษณ์ของความไม่มั่นคง ขาดความน่าเชื่อถือต่างกับธุรกิจรูปแบบห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด

4. อายุการดำเนินงานของกิจการมีจำกัด ถ้าเจ้าของตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถธุรกิจก็จะสิ้นสุดลงด้วย

ขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจเจ้าของคนเดียว

1. การจดทะเบียนพาณิชย์ ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบธุรกิจ โดยนำหลักฐานไปจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนธุรกิจของแต่ละเขตพื้นที่ ถ้าสำนักงานใหญ่ของกิจการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ถ้าอยู่ในต่างจังหวัดให้จดทะเบียนที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือที่ทำการอำเภอและกิ่งอำเภอนั้น และต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ที่ได้นั้น ณ สำนักงานที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย พร้อมกับทำป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชย์ ไว้หน้าสำนักงานใหญ่และสาขาภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ โดยที่ป้ายนั้นต้องเป็นภาษาไทย จะมีอักษรต่างประเทศไว้ด้วยก็ได้และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้

2. การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ผู้ประกอบการต้องไปยื่นขอบัตรและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของนิติบุคคลที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 1-16 ถ้าสำนักงานใหญ่ของกิจการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ถ้าอยู่ในต่างจังหวัดให้ขอที่สำนักงานสรรพากรจังหวัด

3. การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจที่มีรายได้ปีละ 1,200,000 บาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อแสดงยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่มียอดดุลเป็นเครดิตและเดบิตอันเกิดจากการเอาภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือน การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำได้ต่อเมื่อมีการของเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเรียบร้อยแล้ว โดยจดทะเบียนที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรจังหวัด หรือสำนักงานสรรพากรภาคทุกแห่งเช่นเดียวกับการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

     ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ1,200,000 บาท จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าธุรกิจขนาดย่อมนั้นมีการติดต่อซื้อขายประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เพื่อประโยชน์ในการได้ภาษีซื้อคืนและสามารถออกใบกำกับภาษีซึ่งเป็นเอกสารการเงินที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการได้

ใส่ความเห็น